เรื่องและภาพ: ณภัทร เวชชศาสตร์

วันนี้ที่ จะนะ : จากโรงงานแยกก๊าซสู่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว
An aerial shot of the Chana district, where the Royal Thai Government had planned to transform this agricultural area into an industrial estate zone.
ภาพทางอากาศบริเวณพื้นที่จะนะ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม

กว่า ๒ ทศวรรษแล้วที่รัฐบาลไทยต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จะนะให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงเสียงจากชุมชนชายฝั่ง

“เราเพียงต้องการปกป้องพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิต และบ้านของเรา แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทำนั้นรับไม่ได้” นินับ หนึ่งในชาวชุมชนจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ออกมาเคลื่อนไหวกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กล่าวพร้อมทั้งน้ำตา

เวลา ๑๕.๐๐ น. วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางจากจังหวัดสงขลามาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาการทำแบบประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA: Strategic Environmental Assessment) ของโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่การทำประมงและการเกษตรไปสู่เขตอุตสาหกรรม หลังจากคำสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้ผ่านไป ๑ ปีแต่ทุกอย่างยังว่างเปล่า

กลางดึกของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกว่าร้อยนายรวมตัวกัน แจ้งข้อหาผู้ชุมนุมว่าฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน-ในช่วงแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙) กีดขวางการจราจรและแขวนป้ายกีดขวางโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน

เจ้าหน้าที่ขอให้ชาวบ้านออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อชาวบ้านปฏิเสธจึงเกิดความชุลมุนขึ้น

สรุปแล้วเจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินคดีชาวบ้านราว ๓๐ กว่าคน รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุ โดยผู้ถูกจับกุมได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในบ่ายวันถัดมาด้วยเงื่อนไขห้ามจัดกิจกรรมอีก

climatetracker02
A local artisanal fishing vessel rides the boat near the shore passing a gas separation plant of the Trans Thai-Malaysia (Thailand) Limited.
เรือประมงพื้นบ้านวิ่งผ่านชายฝั่งที่ตั้งโรงแยกก๊าซของบริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย

เคยฟังเสียงจากชุมชนหรือเปล่า

กว่า ๒ ทศวรรษแล้วที่รัฐบาลไทยต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จะนะให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงเสียงจากชุมชนชายฝั่ง

จะนะ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ที่มีน้ำจืดจากคลองสองคลอง (คลองนาทับและคลองสะกอม) ไหลสู่ทะเล ส่งผลให้บริเวณนั้นอุดมด้วยสารอาหารและความสมบูรณ์ในเชิงระบบนิเวศ

ชาวจะนะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและประมงพื้นบ้าน โดยสืบทอดวิธีการทำประมงมาหลายชั่วอายุ อีกทั้งยังสร้างจุดขายเรื่องอาหารทะเลสดใหม่ที่ปลอดสารพิษ พื้นที่นี้ยังไม่ค่อยมีการรบกวนจากเรือประมงพาณิชย์นัก เนื่องจากเคยมีการนำขบวนรถไฟเก่ามาสร้างปะการังเทียมให้เป็นบ้านพักของสัตว์น้ำในอ่าวไทยและป้องกันการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากปี ๒๕๔๒ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เริ่มโครงการก่อสร้างท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเชื่อมจากไทยเข้าสู่มาเลเซียรวม ๓๗๔ กิโลเมตร ก็มีความเสี่ยงจากโครงการพัฒนานี้ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ แม้จะมีการชุมนุมคัดค้านและเคยเกิดการสลายการชุมนุมในปี ๒๕๔๕ แต่โครงการท่อส่งและโรงแยกก๊าซดังกล่าวก็สำเร็จและเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ โดยที่ชุมชนแทบไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

“ตอนนั้นผมกำลังทำดูหลำ (การฟังเสียงปลาเพื่อระบุตำแหน่งก่อนวางอวน) แต่เสียงที่ได้ยินมีแต่เสียงการก่อสร้าง เราทำประมงกันแทบไม่ได้เลย” เสียงจากหนึ่งในชาวประมงพื้นบ้านจะนะ ที่เคยเข้าร่วมคัดค้านโครงการเล่ารำลึกความหลัง

climatetracker03
Fisherfolks gather at the beach to spend time with their family in Chana district, Thailand during the sunset.
ครอบครัวชาวประมงใช้เวลายามเย็นสนุกสนานกันบนชายหาด
climatetracker05
During the sunrise, the local artisanal fishers pull the nets from the sea to catch the fish which will be sold at the local market in Chana district, Thailand.
รุ่งสาง ชาวประมงพื้นบ้านเก็บอวนจับปลาเพื่อนำปลาไปขายในตลาดเมืองจะนะ

การขยายตัวของฐานการผลิตพลังงานด้วยก๊าซธรรมชาติเหลว

ปี ๒๕๖๒ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแผนสร้าง “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีกลุ่มทุนมหาชนเป็นผู้ลงทุนหลัก หวังเปลี่ยนพื้นที่กว่า ๒๖ ล้านตารางเมตรรวมพื้นที่ชายฝั่งของสามตำบลในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็น “นิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

โครงการนี้จะมีทั้งโรงผลิตไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ท่าเรือน้ำลึกรับ-ส่งสินค้าสองท่า และท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมอีกหนึ่งท่า

“หากมองในเชิงพลังงาน ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าสามแห่งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับครัวเรือนแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลมีแผนเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว (เกษตรกรรม) ไปเป็นพื้นที่สีม่วง (อุตสาหกรรม) แน่นอนว่าความต้องการพลังงานก็ต้องเพิ่มขึ้นมหาศาล” นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ หนึ่งในผู้นำการคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ความเห็น

หัวใจสำคัญในนิคมอุตสาหกรรมจะนะคือโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในการผลิต

“สาเหตุหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวก็เพราะก๊าซธรรมชาติบริเวณอ่าวไทยมีปริมาณค่อนข้างจำกัด รวมถึงการปิดโครงการของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” นพ. สุภัทรกล่าว

หากโรงไฟฟ้าจะต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงหลัก สิ่งที่ตามมาก็คือการสร้างท่าเรือเพื่อรับก๊าซธรรมชาติเหลว แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศของทะเลจะนะมีความตื้นเฉลี่ย ๓ เมตร ตลอดแนวยาว ๑ กิโลเมตรจากชายฝั่ง ดังนั้นก็จะเป็นอุปสรรคหลักของเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวที่มีขนาดใหญ่และกินท้องน้ำลึกกว่า ๑๖ เมตร

มากกว่านั้น เมื่อมีแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่ก็ไม่มีการจัดทำประชาพิจารณ์อย่างเหมาะสม ชาวบ้านหลายคนที่คัดค้านถูกตัดออกจากการรับฟังความคิดเห็น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการแตกแยกร้าวลึก

แม้หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของชาวบ้านจะนะที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ รัฐบาลได้ชี้แจงและสัญญาว่าจะดำเนินการทำแบบประเมินสิ่งแวดล้อมฯ SEA ขึ้น ดังมติ ครม. เมื่อ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ ให้ชะลอโครงการโดยให้รอผลการศึกษา SEA ก่อน

แต่คำสัญญาดังกล่าวยังไม่เป็นที่ไว้วางใจจากชาวบ้าน เพราะจนถึงเดือนกรกฎาคมปี ๒๕๖๕ ก็ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการและงบประมาณทำ SEA หนำซ้ำ ครม. ยังมีมติรับทราบเมื่อ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ให้ดำเนินโครงการที่ต้องชะลอได้ในระหว่างศึกษา SEA หลังจากกลุ่มทุนมหาชนยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม

climatetracker06
The fishers pour fresh water to wash the recently caught fish.
ล้างปลาที่จับได้ด้วยน้ำจืด
climatetracker08
The local artisanal fisher carefully looks at the marking flag before releasing fishing nets to the sea.
ชาวประมงเพ่งมองธงที่ปักไว้เป็นหมุดหมายสำหรับการปล่อยอวนจับปลา

อนาคตของจะนะอยู่ที่ไหน?

ทะเลจะนะอุดมสมบูรณ์ในเชิงระบบนิเวศรวมทั้งบริบททางวัฒนธรรมมาก แต่ในแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) ที่จัดทำโดยรัฐบาลในปี ๒๕๖๔ แทบจะไม่มีการกล่าวถึง

หากมองเข้าไปในแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA พบว่าเป็นการศึกษาในพื้นที่เพียงรัศมี ๕ กิโลเมตรรอบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่ความจริงแล้วเมื่อมีการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึก เท่ากับว่าตลอด ๑ กิโลเมตรจากชายหาดสู่ทะเลจะมีการขุดร่องน้ำจาก ๓ เมตรให้ลึกลงเป็น ๑๖ เมตร ตะกอนที่ฟุ้งขึ้นมาย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์หน้าดินรวมถึงปะการัง แหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ และผลกระทบก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงรัศมี ๕ กิโลเมตรแน่นอน

“เรามีแผนทำแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฉบับประชาชนเอง เพราะปัจจุบันแทบไม่เห็นความคืบหน้าจากรัฐบาลเลย ถ้าโครงการนี้สำเร็จ ทุกอย่างก็จะถูกทำลาย ไม่ต่างจากนิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด สภาพแวดล้อมตรงนั้นมีการปนเปื้อน สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเกือบหมดแล้ว” เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนักวิจัย เล่าเปรียบเทียบผลกระทบจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ก่อตั้งในปี ๒๕๓๒ เป็นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก โรงงานปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ฯลฯ

ใน ปี ๒๕๕๐ ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชน ๑๑ ชุมชนในเขตมาบตาพุดยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง กรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ละเลยการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ส่งผลให้ปี ๒๕๕๒ กก.วล. ประกาศเขตควบคุมมลพิษรอบนิคมฯ มาบตาพุด และต่อมาในปี ๒๕๖๐ ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นว่าคดีนี้รับฟังได้ว่ามีปัญหามลพิษในระดับร้ายแรงถึงขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นการยืนยันและยอมรับแล้วว่านิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องกำหนดเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินมาตรการควบคุม ลด และขจัดมลพิษอย่างชัดเจนและจริงจัง

climatetracker09
Sunrise in the Chana district.
รุ่งสาง ณ ชายหาดจะนะ
climatetracker10
The clams are collected inside the tank by the local fishers.
หอยชนิดต่างๆ ที่เก็บได้

ก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศไทย

ถ้ามองในภาพกว้าง ประเทศไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นอันดับที่ ๓ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในอนาคตจะนำเข้ากว่า ๔๐.๓ เมตริกตันต่อปี ซึ่งมากกว่าปัจจุบันที่ ๑๑.๕ เมตริกตันต่อปี

แม้ว่าประเทศไทยมีการประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาที่ Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยปริมาณการปล่อยเท่ากับปริมาณการดูดซับภายในปี 2593 แต่สถาบันทางการเงินของไทยส่วนใหญ่ก็ยังสนับสนุนกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงในไทย แต่รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

นพ. สุภัทรให้ความเห็นว่า ถ้าเรามองไปที่การใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือการใช้กากปาล์มเป็นเชื้อเพลงในการผลิตก็จะทำให้มีพลังงานมากขึ้น อีกทั้งยังสะอาดอีกด้วย

“แต่ถึงแม้จะเป็นพลังงานที่สะอาด ก็ตามมาด้วยค่าบำรุงรักษาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะไม่คุ้มทุนเมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติเหลว

“ก๊าซธรรมชาติเหลวอาจตอบโจทย์ในแง่การลงทุนหากมองด้วยแว่นตาของนักธุรกิจ แต่ถ้ามองผ่านกรอบสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม…ผมว่าเราก็รู้คำตอบกันอยู่แล้ว” – นพ.สุภัทร กล่าวทิ้งท้าย